รายละเอียด
บ้านจำรุงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ สมาชิกเหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกันทั้งหมด แต่เดิมมีลุงสำเริง ดีนาน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “โอท็อปโบราณ” ก่อนจะพัฒนาเป็นศูนย์โอท็อปชาวบ้าน นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาขาย นอกจากนี้ ยังเปิดแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ มีรถพาชมสวน ได้ทั้งการพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ และความรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบชาวบ้าน ทั้งเกษตรพื้นบ้านไร้สารเคมี เกษตรธรรมชาติกองทัพมด เป็นตัวอย่างนำกลับไปใช้ได้จริง โดยเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 กระทั่งมีผลงานเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่เข้มแข็ง จากที่ประชุมกันในครัวเรือน กลายเป็นเครือข่ายองค์กรบ้านจำรุง ที่มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 15 ของเดือน เป็นเวทีสาธารณะ หรือเวทีชาวบ้าน ที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และคนแก่ เข้าร่วม ต่อมาปี พ.ศ.2549 จึงจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยบ้านนอก” เพื่อการเรียนรู้ของสังคม กระทั่งได้รับรางวัล “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้กันอย่างไม่ขาดสาย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ
ประวัติความเป็นมา
ย้อนไปในอดีตเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน จำรุงเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งจากการสอบถามและสืบค้นประวัติจากบุคลและหลักฐานต่างๆที่พอจะทราบว่า ผู้คนที่มาอยู่อาศัยในช่วงเริ่มต้น ได้อพยพจากบริเวณชายทะเล บริเวณบ้านถนนกระเพรา ตำบลเนินฆ้อในปัจจุบัน หลังจากเดินทางหลบหนีภัยสงครามมาจากจันทบุรีโดยพากันหลบหนีออกมาหาที่อยู่ใหม่จากการเข้ามายึดครองจันทบุรีและตราดของฝรั่งเศสเรื่อยลงมาจนถึงชายทะเลบริเวณบ้านถนนกะเพรา หลังจากนั้นจึงอพยพต่อไปเรื่อยๆโดยได้พากันย้ายถิ่นฐานเพื่อที่จะหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ ห่างจากที่เดิมมาประมาณ 6- 7 กิโลเมตร จนมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก มีบึงและน้ำขังตลอดปี จึงหยุดและสร้างถิ่นฐานโดยเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า บ้านป่าเรไร ซึ่งบริเวณนี้เป็นบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอันมากเนื่องจากทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มทั้งยังมีทางน้ำเล็กๆไหลออกมาจากหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า " คลองจำรุ " คำว่า“จำรุ” (ชาวบ้านอ่านว่า จำหรุ เสียงต่ำเหน่อตามภาษาคนชอง) นั้นเป็นภาษาชอง แปลว่าทางน้ำเล็กๆคล้ายลำคลองซึ่งบางแห่งแคบมากผู้คนสามารถโดดข้ามไปข้ามมาได้ และปลายของคลองจำรุนั้นจะสลายหายไปกับท้องทุ่งนาและกลมกลืนกับท้องทุ่งนาจนเหมือนไม่มีลำคลองในบริเวณนั้น และมีความลึกของลำคลองไม่เกินหนึ่งเมตร (ผู้เขียนยืนยันเพราะผู้เขียนมีบ้านอยู่ใกล้ๆหมู่บ้านจำรุง และที่หมู่บ้านของผู้เขียนเองมี จำหรุ อยู่แห่งหนึ่งซึ่งทุกคนเรียกว่า จำหรุ เป็นสถานที่หาปู หาปลา ซ้อนกุ้ง หลังจากข้าวเริ่มเติบโต) แต่ต่อมาชาวบ้านอาจจะเรียกเพี้ยนหรือเขียนผิดจึงกลายมาเป็นคำว่า “จำรุง” และเรียกชื่อหมู่บ้านเป็น " บ้านจำรุง " เช่นในปัจจุบัน
ลักษณะเด่น
ศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตร คือสินค้าของฝาก โอท็อปโบราณ ได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำปลาดีชั้นหนึ่ง ทุเรียนทอด พืชผัก สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ สละ แก้วมังกร มะยงชิด ลองกองที่ผิวไม่สวยแต่หวานกรอบ และปราศจากสารเคมี ทั้งยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันผลิตใช้เองในหมู่บ้าน แบ่งการศึกษาเป็นโซนต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตกะปิ-น้ำปลา กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มชาวนา เป็นต้น
ที่มาข้อมูล
Thailand Tourism Directory